วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ศิลปะและพัฒนาการเด็กปฐมวัย

พัฒนาการทางศิลปะ

 

พัฒนาการทางศิลปะเป็นกระบวนการแสดงออกทางศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะของเด็กซึ่งปรากฏอยู่ในวัยจากวัยหนึ่งสู่อีกวัยหนึ่งอย่างต่อเนื่องและพัฒนาการดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเข้าใจและความสามารถทางศิลปะ ประกอบกับสิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจของแต่ละคน ดังจะเห็นได้จากพัฒนาการทางศิลปะของเด็กนั้น จะเริ่มต้นจากการเขียนภาพเป็นเส้นขยุกขยิก จนสามารถลากเส้นตรงได้ เพราะกล้ามเนื้อแขนและมือได้รับการควบคุมดีขึ้น

ศรีเรือน แก้วกังวาน (2540: 232) ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางศิลปะ เป็นพัฒนาการควบคู่ทั้งด้านความคิดและทักษะ พัฒนาการทางศิลปะของเด็ก มีความพิเศษกว่าของผู้ใหญ่ในเรื่องความสามารถทางกายด้านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว รวมทั้งความสามารถด้านสมองเชิงสร้างสรรค์ และแสดงออกทางจินตนาการ ซึ่งมีค่าต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจและความคิดเชิงบวก
เคลล็อก (หรรษา นิลวิเชียร. 2535:183 ;อ้างอิงจาก Kellogg. 1967) ได้ศึกษางานขีดๆ เขียนๆ ของเด็กและให้ความเห็นว่า เด็กๆ ทั่วโลกมีขบวนการในการพัฒนางานศิลปะเป็นขั้นตอนที่เหมือนๆ กัน วงจรของการพัฒนาจะเริ่มจากอายุ 2 ขวบหรือก่อน 2 ขวบเล็กน้อย จนถึงอายุ 4 – 5 ขวบ และได้จำแนกออกเป็น 4 ขั้นตอน ทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของงานขีดๆเขียนๆ ทางศิลปะที่มีต่อการพัฒนาการในชีวิตของเด็กไว้ดังนี้
ขั้นที่1 ขีดเขี่ย
          ขั้นขีดเขี่ย (Placement stage) เป็นขั้นการทดลองให้เด็ก อายุ 2 ขวบ หรือ3 ขวบขีดๆ เขียนๆ ตามธรรมชาติของเด็ก ซึ่งมักจะขีดเขี่ยเป็นเส้นตรงบ้างโค้งบ้างลงบนกระดาษที่พื้นผิวของวัสดุอื่นๆ โดยปราศจากการควบคุมเด็กๆ จะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน โลกของเขานั้นมีการขีดๆ เขียนๆ นับเป็นพื้นฐานการพัฒนาตนเองของเด็ก งานศิลปะของเด็กเป็นการแสดงความคิด ความรู้สึกอันเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนาของชีวิต ในความหมายนี้ คือ งานศิลป์ โดยการขีดๆเขียนๆ จะเป็นการแสดงออกของเด็กแต่ละอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาเองการศึกษาถึงรูปแบบต่าง ๆ ของการวางตำแหน่งของภาพของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น เด็กอาจจะขีดเขียนลงกระดาษด้านซ้าย ด้านขวา หรือตรงกลางของกระดาษ เคลล็อกได้จำแนกตำแหน่งของการขีดๆ เขียนๆ ของเด็กออกเป็น 17ตำแหน่งและยังได้รับการยืนยันจากนักค้นคว้าอื่นๆ ว่าเด็กจะใช้รูปแบบของการวางตำแหน่งเหล่านี้ในการฝึกฝนในขั้นแรก ในแต่ละรูปแบบก็จะพบในแต่ละขั้นของการพัฒนาของเด็ก เมื่อเด็กพบวิธีการขีดๆ เขียนๆเด็กก็จะพัฒนาตำแหน่งของภาพด้วยซึ่งก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สะสมอยู่ตัวเด็กตลอดเวลาของการพัฒนาด้านศิลปะจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่
ขั้นที่ 2 ขีดเขียนเป็นรูปร่าง
          ขั้นขีดเขียนเป็นรูปร่าง (Shape stage) การทดลองนี้ทำกับเด็กอายุ 3หรือ4 ขวบ ซึ่งจะพบว่าการขีดๆ เขียนๆ ของเขาเริ่มจะมีรูปร่างขึ้นหลังจาก Placemen stage ไม่นาน เด็กอายุ 3 หรือ 4 ขวบ เริ่มจะขีดๆ เขียนๆเป็นรูปร่างขึ้นถ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบว่าเด็กจะค่อยๆ เปลี่ยนจากการขีดเขียนเป็นเส้นๆ ไปเป็นแบบที่เป็นรูปเป็นร่าง โดยขั้นแรกเด็กจะขีดๆ เขียนๆ โดยลากเส้นไปมาหลายครั้งด้วย สีเทียน ดินสอหรือพู่กัน รูปร่างของภาพจะมีความหมาย และค่อยๆ ชัดเจนขึ้น แต่ไม่มีเส้นขอบเขตที่ชัดเจนหลังจากนั้นเด็กจะค่อยๆ ค้นพบรูปร่างต่างๆ ในขณะเดียวกันเส้นที่แสดงขอบเขตของรูปร่างก็ชัดเจนขึ้นเด็กจะวาดรูปร่างที่คุ้นเคยได้ เช่น วงกลม วงรี สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยมและรูปกากบาท ฯลฯ รูปแต่ละรูปเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการฝึกฝน การขีดๆ เขียนๆ ตลอดเวลา

ขั้นที่ 3 รู้จักออกแบบ (Design stage)
          ขั้นนี้เด็กเริ่มมีความสามารถรวมการขีดๆ เขียนๆ ที่เป็นรูปร่างเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นรูปโครงสร้างหรือเค้าโครงในช่วงนี้เด็กเริ่มจะนำรูปร่างต่าง ๆ มารวมกันเป็นโครงสร้างที่คุ้นเคย เช่น การนำเอากากบาทใส่ลงในสี่เหลี่ยมผืนผ้า (รูปที่ 1 ) หรือรูปวงกลมเล็กใส่ลงในวงกลมใหญ่ (รูปที่ 2) รูปที่ 1 รูปที่ 2เมื่อเด็กนำเอารูปร่างต่างๆมารวมกัน เช่นนี้ก็แสดงว่าเด็กเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนที่เรียกว่าขั้นรู้จักออกแบบ เด็กเรียนรู้ว่ารูปร่างต่างๆ เหล่านั้น สามารถขยับตำแหน่งได้ เช่น วางติดกัน วางใกล้ๆ กันหรือวางห่างๆ กัน หรือนำรูป 2 หรือ 3 หรือมากกว่ามารวมกันเป็นแบบ นอกจากนี้เด็กยังสามารถรวมวัตถุรูปทรงต่างๆ เข้าด้วยกันมีความสามารถและรู้ว่าวัตถุต่างๆ มีสี รูปร่าง น้ำหนัก คุณภาพ และมีชื่อเรียก การที่เด็กเอากากบาทใส่ลงในสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือเอาวงกลมเล็กใส่ลงในวงกลมใหญ่ เด็กจะได้เพิ่มประสบการณ์ในการเห็น และเพิ่มความมีไหวพริบขึ้น
ขั้นที่ 4 การวาดแสดงเป็นภาพ
          ขั้นการวาดแสดงเป็นภาพ (Pictorial stage) ขั้นนี้เป็นขั้นขีดๆ เขียนๆ ของเด็กอายุ
4 หรือ 5 ขวบ ซึ่งเริ่มจะแยกแยะวัตถุที่เหมือนกันตามมาตรฐานของผู้ใหญ่ได้ขั้นนี้ เป็นขั้นต่อจากขั้นรู้จักออกแบบ (Design stage) เด็กอายุ 4 และ 5 ขวบ จะเริ่มเขียนรูปแบบที่ให้ภาพชัดเจนพอที่ผู้ใหญ่จะรู้ได้ ขั้นตอนนี้แสดงถึงความเป็นเด็กที่โตขึ้น และมีจินตนาการเด็กจะสามารถรวมขั้นตอนต่างๆ ที่ผ่านมาข้างต้นทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งไปสู่งานที่เป็นจริง และเป็นการแสดงถึงงานศิลปะด้วยจากการเริ่มต้นวาดรูปวงกลม อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบความสัมพันธ์ของศิลปะ ตัวอย่างเช่น การลากเส้นรัศมีออกจากจุดศูนย์กลาง หรือออกจากลงกลม ก็ดูเหมือนเป็นแสงอาทิตย์ที่ออกจากดวงอาทิตย์ (รูปที่5) หรือบางทีอาจจะดัดแปลงเป็นรูปตะขาบได้ (รูปที่ 6)รูปที่ 5 รูปที่ 6งานศิลป์โดยเฉพาะรูปนี้เป็นขบวนการของความคิดสร้างสรรค์อันมีเอกลักษณ์ของตัวมันเอง พระอาทิตย์ หรือตะขาบเกิดจากการรวมของเส้น และวงกลมทำให้เห็นรูปดังกล่าวมากกว่าจะเห็นเป็นวงกลม และเส้น เป็นความจริงที่ว่างานศิลป์ในแต่ละส่วนจะมีความสัมพันธ์กับภาพทั้งภาพเช่นเดียวกับมีความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆสรุปได้ว่า พัฒนาการของเด็กปฐมวัย เป็นพัฒนาการที่มีลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคนซึ่งจะมีพัฒนาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การอบรมเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม การส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง พร้อมทั้งการสนับสนุนด้านร่างกาย โดยเฉพาะในเรื่องการให้กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ความสำคัญของศิลปะ

          ความสำคัญของศิลปะมีผลต่อการดำรงชีวิต ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนี้
1. ศิลปะเพื่อการผ่อนคลาย โดยการระบายความรู้สึกนึกคิด หรือความคับข้องใจออกมา เพราะความรู้สึกของมนุษย์นั้นมีทั้งความสุข ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความฝัน และความหวัง ความรู้สึกเหล่านี้สามารถระบายออกได้ โดยผ่านสื่อทางศิลปะอย่างอิสระ
2. ศิลปะเพื่อการพัฒนาจิตใจ ความสำคัญของศิลปะในแง่การพัฒนาจิตใจนั้นเบอร์นาร์ด(Bernard) นักจิตวิทยาได้กล่าวไว้ว่า คนที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ทำงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความชื่นชมยินดีในงานที่ทำมีความเอื้อเฟื้อเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และไม่มีอารมณ์เครียดจนเกินไปนัก ดังนั้น ถ้าจิตใจปกติทำงานต่างๆ ก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
3. ศิลปะเพื่อพัฒนาสังคม ศิลปะเป็นสื่อสำคัญที่ช่วยให้สัมพันธภาพของคนในสังคมดำเนินไปอย่างสงบสุข เพราะสามารถที่จะใช้ศิลปะเป็นตัวกลางในการจัดกิจกรรมต่างๆร่วมกันดังเห็นได้จาก เอเซียน ที่ได้รวมเอาประเทศทั้ง 10 ประเทศมารวมกลุ่มกัน โดยใช้ศิลปะ และวัฒนธรรมเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีของแต่ละประเทศ
4. ศิลปะเพื่อการบำบัด ความสำคัญของศิลปะในเรื่องของการบำบัดสารนุกรมศึกษาศาสตร์ปี2539 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า การบำบัดด้วยศิลปะ (Art Therapy) หมายถึงการใช้กิจกรรมศิลปะ หรือผลงานศิลปะ เพื่อวิจัยหาข้อบกพร่องของบุคคลที่กลไกการทำงานของร่างกายหย่อนสมรรถภาพซึ่งมีสาเหตุเนื่องมาจากความผิดปกติบางประการของกระบวนการทางจิตและเพื่อใช้กิจกรรมศิลปะที่เหมาะสมช่วยในการรักษาให้มีสภาพดีขึ้น

คุณค่าของศิลปะต่อเด็กปฐมวัย

          กิจกรรมศิลปะนับว่า มีคุณค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเด็กในขอบเขตที่กว้างขวาง ครอบคลุมพัฒนาการด้านต่างๆ ตลอดจนเป็นเครื่องมือทางด้านจิตเวชบำบัดสำหรับเด็กในรายการที่มีปัญหาเก็บกดต่างๆ
วิรุณ ตั้งเจริญ (2526: 42) ได้กล่าวถึงคุณค่าของการฝึกปฏิบัติกิจกรรมศิลปะในระดับปฐมวัยไว้ 3 ด้าน คือ
1. คุณค่าด้านจิตใจ (Spiritual Values) ได้แก่ รสนิยมที่พึงมีต่อศิลปะ การชื่นชมต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีและการเห็นคุณค่าของความงาม
2. คุณค่าทางกาย (Physical Values) ได้แก่ การแสดงออกด้วยการริเริ่มสร้างสรรค์การแสดงออกตามความถนัด และความสามารถเฉพาะบุคคล รวมทั้ง การได้มีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน
3. คุณค่าทางสังคม (Social Values) ได้แก่ การอยู่รวมกันกับคนอื่น และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหมายศิลปะ

ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ (2543:25 – 27) กล่าวว่า บทปรัชญาให้ความสนใจศิลปะและให้นิยามศิลปะทั้งความหมายกว้าง และเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีความเห็นสอดคล้อง และแตกต่างกัน
มากมายและได้สรุปความหมายของศิลปะดังนี้
1. ศิลปะคือ การจำลองแบบ (Art as Imitation)
2. ศิลปะคือ การแสดงออก (Art as Expression)
3. ศิลปะคือ ประสบการณ์ (Art as Experience
4. ศิลปะคือ การแสดงออกซึ่งอารมณ์ หรือสิ่งที่อยู่ภายในของชีวิต
5. ศิลปะคือ การแสดงออกซึ่งอารมณ์ หรือสิ่งที่อยู่ภายในของชีวิต
สกนธ์ ภู่งามดี (2545:20) กล่าวว่า ศิลปะคือ สิ่งที่สื่อความหมายขอบไม่ชอบของผู้ปฏิบัติการทางศิลปกรรมที่แสดงออกด้วยความชำนาญ ที่สะท้อนในรูปแบบของปฏิกิริยาการรับรู้โดยผู้ชม
มานพ ถนอมศรี (2546:14) กล่าวว่า ศิลปะเป็นผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ถ่ายทอดออกมาโดยผ่านสื่อ เทคนิควิธีการต่างๆ มีหลากหลายรูปแบบ และผลงานที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะนั้น ต้องมีคุณค่าต่อจิตใจ หรือก่อให้เกิดการสะเทือนอารมณ์

หลักการจัดประสบการณ์ศิลปะ

สิริพรรณ ตันติรัตน์ไพศาล (2545: 40 – 41) มีนักการศึกษาได้ลำดับขั้นตอนการจัดประสบการณ์ศิลปะเด็กปฐมวัยไว้ ดังนี้
1.ควรตั้งจุดประสงค์ในการเรียนรู้ให้กับเด็กโดยให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก
2.กำหนดเนื้อหา
3. การเตรียมก่อนจัดประสบการณ์
3.1 เตรียมแผนการสอน
3.1.1 จุดประสงค์
3.1.2 เนื้อหา
3.1.3 ระยะเวลา
3.1.4 สื่อการสอน
3.1.5 จำนวนเด็ก
3.1.6 จำนวนกิจกรรม
3.1.7 สถานที่
3.2 เตรียมอุปกรณ์การสอน
4. ทดลองและตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้สร้างงานศิลปะซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเด็กได้เห็นวัสดุอุปกรณ์ที่แตกต่างออกไป ทำให้เขาอยากหยิบจับขึ้นสัมผัส ทดลองใช้และเริ่มคิดหัวข้อในการสร้างงานศิลปะ ดังนั้นจึงควรให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์ใหม่ๆและมีความหลากหลาย ฯลฯ ล้วนเป็นวิธีการที่เราต้องนำมาใช้ทั้งสิ้น สิ่งเร้าหรือสื่อต่างๆ นี้มีส่วนช่วยให้เด็กได้พัฒนาทางด้านความคิดรวบยอดในแต่ละเรื่องเพื่อนำไปควบคุมเส้นที่ขีดเขี่ยออก
5.การเตรียมห้องเรียนศิลปะก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ห้องเรียนที่ดีควรมีโต๊ะเก้าอี้ที่ได้สัดส่วนเหมาะสมกับขนาดร่างกายของเด็กและสามารถเคลื่อนย้ายได้ตลอด เนื่องจากบางกิจกรรมอาจจำเป็นต้องใช้โต๊ะมาต่อกันเพื่อให้ได้พื้นที่กว้างหรืออาจเป็นการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เตรียมแบ่งจำนวนเด็กตามจำนวนกิจกรรม ฝึกความเป็นระเบียบวินัยในการเข้าแถวรับอุปกรณ์ และสับเปลี่ยนหมุนเวียนในการทำกิจกรรมจำนวนของโต๊ะเก้าอี้ควรเพียงพอกับจำนวนเด็ก โต๊ะที่ใช้ปฏิบัติงานควรลบมุมให้เรียบร้อย พื้นโต๊ะควรทำจากวัสดุคงทน เช่น โฟเมก้า หรือแผ่นโลหะเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ในห้องเรียนควรมีตู้เก็บอุปกรณ์หรือสื่อการสอนศิลปะโดยเฉพาะ มีที่ตากผลงานเมื่อยังไม่แห้ง และที่ติดตั้งแสดงผลงานที่ควรได้รับการชื่นชม อ่างล้างมือสำหรับทำความสะอาด สบู่ ผ้าเช็ดมือ ถังขยะ ฯลฯ กระดานไม้ขนาดเล็กสำหรับเด็กรองเขียนหรือเป็นฐานของงานปั้น สุดท้ายคือผ้าคลุมกันเปื้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องพะวงกับการรักษาความสะอาดจนขาดสมาธิในการทำงาน
6. จัดประสบการณ์จริง ตามแผนการจัดประสบการณ์ และสาธิตการทำกิจกรรมใหม่ของแต่ละวัน
7. ในการทำงานของเด็กโดยมีผู้จัดประสบการณ์ดูแลให้คำแนะนำช่วยเหลือแต่ไม่ชี้แนะตลอดจนการเขียน
ชื่อ ลงวันที่การปฏิบัติให้แก่เด็กที่ยังเขียนชื่อเองไม่ได้ ลายมือในการบันทึกให้เด็กควรเป็นลายมือที่มีหัวเพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ทางภาษาจากการเขียนของครู
8. การเก็บ การรักษาและการทำความสะอาดฝึกให้เด็กช่วยกันเก็บอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ ให้เข้าที่
เข้ากล่อง ลงตะกร้า เก็บผลงานเข้าที่ ฝึกเด็กให้ช่วยกันทำความสะอาด เช่น เก็บกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปูโต๊ะออก กวาดเช็ดทำความสะอาดเป็นต้น
9. ประเมินผลงานเด็ก โดยการเก็บผลงานและประเมินตามพัฒนาการซึ่งจะสะท้อนการเปลี่ยนแปลง
10.ในกรณีที่เด็กไม่รู้จะวาดรูปอะไรดี ผู้สอนต้องทำหน้าที่เป็นตัวเร้า วิธีที่นิยมใช้คือการแนะนำหัวข้อให้วาด เช่น สุนัขของฉัน, ครูของฉัน, บ้านของฉัน, คุณแม่ทำอาหาร, รถของคุณพ่อ, ของเล่นของฉัน, เพื่อนที่โรงเรียน, ปลาในตู้กระจก ฯลฯ
11.หลังจากจัดประสบการณ์แล้วควรทำบันทึกหลังสอน โดยประเด็นที่ควรบันทึก ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ของเด็กตามจุดประสงค์ของการจัดประสบการณ์ การตอบสนองของผู้เรียนต่อการจัดประสบการณ์ ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อ การออกแบบการจัดประสบการณ์ และลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก แล้วนำผลที่บันทึกนี้มาใช้ในการปรับแผนการจัดประสบการณ์ในวันต่อๆ ไปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


แนวการจัดกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์

เบญจา แสงมลิ (2545 : 63 – 67 ) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การจัดกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์ มีข้อควรคำนึงถึงข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ความสนใจของแต่ละบุคคล ครูควรช่วยเหลือให้เด็กได้ประสบการณ์ที่เป็นผลสำเร็จตามความต้องการของเด็ก สร้างเสริมเจตคติที่ดีต่อการผิดพลาดและการรู้จักรับผิดชอบในการดูแลรักษาวัสดุพร้อมทั้งสร้างความรู้สึกมั่งคง โดยปล่อยให้เด็กมีอิสระในการคิด จินตนาการเลือกและตัดสินใจ ครูมีหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำเด็กต้องการ ใช้คำถามกระตุ้นความคิดและให้ความเห็นพ้องในความพยายามที่แท้จริงของเด็ก นอกจากนั้นครูควรมีความเป็นกันเอง จริงใจและมีความเข้าใจในตัวเด็กด้วย
2. การจัดสถานที่ เวลา และวัสดุให้เพียงพอเหมาะสม เพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระเมื่อทำงานคนเดียวหรือทำงานเป็นกลุ่มเล็กๆบนพื้นบนโต๊ะ ภายในและภายนอกอาคารเรียน มอบความไว้วางใจแก่เด็กให้เด็กดูแลรักษาเครื่องมือ เครื่องใช้และวัสดุด้วยตนเอง เวลาที่เด็กไม่ควรน้อยเกินไปจนเด็กต้องรีบร้อนในการกระทำกิจกรรม การสำรวจ การวางแผน การเก็บทำความสะอาดหลังจากการทำงานเสร็จ วัสดุที่ได้ต้องเตรียมไว้หลากหลายชนิดให้เด็กเลือกตามความพอใจ และเหมาะสมกับอายุของเด็ก เก็บรักษาง่ายและให้โอกาสเด็กมีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส
3. การแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ เด็กต้องการประสบการณ์ที่สมบูรณ์ เพื่อช่วยกระตุ้นการแสดงออกสร้างสรรค์ ประสบการณ์นี้เริ่มจากการเล่นของเด็กในชีวิตประจำวัน การพูดการสนทนา ความรู้สึกในสิ่งที่เด็กเห็น ช่วยให้เด็กนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครูควรสนับสนุนการพูดของเด็ก การแสดงออกทางการกระทำและการแสดงออกโดยการใช้สื่อกลาง วัสดุเครื่องใช้ทางศิลปะ การทัศนศึกษา เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมการแสดงออกแบบสร้างสรรค์
4. เจตคติของผู้ปกครองที่มีต่อการแสดงออกสร้างสรรค์ของเด็ก ครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้ทำให้ผู้ปกครองเด็กเข้าใจผลงานของเด็ก และสามารถเสนอแนะผู้ปกครองในการเลือกวัสดุที่เหมาะสมให้เด็กเมื่ออยู่บ้าน
5. ครูใช้วิธีการสร้างสรรค์สนับสนุนเด็กให้เลือกกิจกรรมศิลปะด้วยวิธีซึ่งเด็กจะแสดงออกหรือกระทำได้ และจะรวบรวมความคิดหรือวัสดุ วิธีนี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะกระทำกิจกรรมโดยปราศจากการแนะนำ แต่หมายความว่าเด็กจะตัดสินใจและเลือกด้วยตนเอง กิจกรรมศิลปะควรมีหลายชนิดให้เด็กได้มีโอกาสเลือกในแต่ละวัน
6. ครูวางแผนจัดเตรียมกิจกรรมต่างๆเป็นอย่างดี เด็กมีอิสระในการค้นหา สำรวจและทดลอง และเมื่อเด็กรู้สภาพแวดล้อม เด็กจะถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจ กล้ามเนื้อเล็กประสานสัมพันธ์ของมือและตาจะพัฒนาขึ้น มโนภาพเรื่องรูปทรง สี เจริญเติบโตขึ้น การที่เด็กได้เล่นร่วมกับเพื่อน พูดสนทนา แลกเปลี่ยนสิ่งของ รับผิดชอบร่วมกัน การรอคอย ตามลำดับช่วยเสริมสร้างความพร้อมทางอารมณ์และสังคมแก่เด็ก
7. ครูต้องรวบรวมหลักฐานเพื่อจุดมุ่งหมายในการวัดผล

ความมุ่งหมายในการจัดประสบการณ์ศิลปะ

สิริพรรณ ตันติรัตน์ไพศาล (2545: 31 – 32) การจัดประสบการณ์ศิลปะในระดับปฐมวัย เป็นการอบรมเบื้องต้น มิได้มุ่งให้เด็กวาดรูปเก่ง แต่เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยอันดีงาม และมีความพร้อมในการเรียนดังมีความมุ่งหมาย ดังนี้
1. เพื่อฝึกและเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้เด็กรู้จักใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กันได้อย่างเหมาะสม
2. เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การรู้จักสังเกต การมีไหมพริบสามารถแสดงออก
ตามความถนัด ความสามารถของแต่ละคน และชื่นชมต่อสิ่งที่สวยงามต่างๆ
3. เพื่อการพัฒนาทางกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และบุคลิกภาพ
4. ปลูกฝังค่านิยม เจตคติ และคุณสมบัติที่ดีของศิลปะและวัฒนธรรมไทย
5. เพื่อให้เด็กเริ่มต้นรู้จักการใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ในการทำงานศิลปะ รู้จักการเก็บรักษา และการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง
6. เพื่อฝึกให้รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นคนมีระเบียบ ประณีต
7. เพื่อให้เด็กมีโอกาสแสดงออกอย่างอิสระ สนุกสนานเพลิดเพลิน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
8. เพื่อนำไปใช้ให้สัมพันธ์กับการจัดประสบการณ์ด้านอื่นๆ

กิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย
ชัยณรงค์ เจริญพาณิชย์กุล (2533:51; อ้างอิงจาก สิริพรรณ ตันติรัตน์ไพศาล. 2545:55 – 92) ได้แบ่งกิจกรรมศิลปะที่เหมาะสมสำหรับเด็กเป็น 5 สาขาใหญ่ๆ คือ
1. กิจกรรมวาดเส้น (Drawing) การวาดเส้นเป็นภาพที่เกิดจากการขีดเขียนวัสดุบางชนิดลงบนกระดาษ โดยแสดงลักษณะเป็นเส้น

2. กิจกรรมระบายสี (Painting) เป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางกล้ามเนื้อนิ้วมือกับสายตา มีสีชนิดต่างๆ พู่กันเป็นอุปกรณ์

3. กิจกรรมภาพพิมพ์ (Print making) กรรมวิธีทางภาพพิมพ์มีหลายวิธีแต่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กๆ คือ การพิมพ์จากแม่พิมพ์นูน ใช้สีทาด้านหลังของวัสดุแล้วนำมาประทับลงบนกระดาษจะได้ภาพพิมพ์เกิดขึ้น

4. กิจกรรมประติมากรรม (Crafts) หมายถึง กิจกรรมที่ครอบคลุมกว้างขวางมาก เช่นการทำภาพปะติด ทำหน้ากาก หุ่น การถักทอไหมพรมด้วยนิ้วมืออย่างง่ายๆ เป็นงานที่เน้นให้เด็กเรียนรู้การทำงานที่มีกระบวนการ หรือมีขั้นตอนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น